ด้านศิลปะการแสดง แตรวง ศ.อำพลศิลป์
นายสุรพล บุญจง บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 12 บ้านวังกะเปา ตำบลสากเหล็ก อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร
เป็นแตรวงพื้นบ้านที่ใช้ในกิจกรรมชาวบ้าน ในการแห่ประกอบงานรื่นเริง งานบวช งานสมโภช งานบุญต่างๆ โดยบรรเลงแบบวงปี่พาทย์ คือใช้บทเพลงที่ใช้กับวงดนตรีทั่วไป โดยเน้นความสนุกสนานแตรวงพื้นบ้านจะมีเครื่องดนตรีไม่มากนัก เครื่องดนตรีที่ใช้จะเป็นจำพวกแตร การฝึกหัดก็จะใช้การถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยอาจมีการดูโน๊ตเพลงหรือไม่มีการดูโน้ตเพลงก็ได้ในเวลาการบรรเลงต้องอาศัยการจดจำ นั่งล้อมวงกันบรรเลงแตรวงจึงเป็นการละเล่นพื้นบ้านในการดำรงชีวิต ของชาวบ้าน ผู้ที่เล่นทั้งชายและหญิงทุกวัย ตั้งแต่เด็กหนุ่มสาวผู้ใหญ่ไปจนถึงผู้สูงอายุตามโอกาสโดยมากเราจะพบกับแตรวงในงาน บวช แต่ง หรือแม้งกระทั่ง งานศพ บางครั้งอาจพบในลักษณะขบวนแห่โอกาสต่างๆ เช่น ลอยกระทง งานฉลองยศตำแหน่งต่างๆ
ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล
ทำขวัญนาค
นายแหนม เนียมสกุล บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 13 บ้านหนองแหน ตำบลสากเหล็ก อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร
นายแหนม เนียมสกุล เดิมเป็นคนชอบร้องเพลง ซึ่งสมัยหนุ่มๆชอบเดินสายประกวดร้องเพลง พออายุมากขึ้นจึงหาช่องทางในการสร้างอาชีพ จึงศึกษาการทำขวัญนาคที่ตนมีน้ำเสียงเป็นต้นทุนอยู่แล้ว โดยได้ศึกษาจากหนังสือ และครูที่สอนทำขวัญนาค และรับทำขวัญนาค ทำขวัญงานแต่ง นับจากนั้นเป็นต้นมา
สาขา ช่างฝีมือดั้งเดิม จักสานไม้ไผ่
นายทวี เพ็ชรจินดา มีความสามารถในการสานเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆจากไม้ไผ่ได้แก่ ข้อง ไซ สุ่ม กระบุ่ง กระจาด ซ้ากระทาย กระบาย กะโล่ หลัว ชะลอม เป็นต้น ภูมิปัญญาด้านนี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากปู่ย่า ตายาย ซึ่งลุงทวีมีฝีมือการจักรสานที่สวยงามและประณีต ซึ่งสมัยก่อนมีการใช้วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่กันอย่างแพร่หลายไม้ไผ่นำมาใช้ในครัวเรือนได้เกือบทุกชนิดและใช้ในชีวิตประจำวันเช่น กระด้ง กระเชอ กระชอน สานเป็นเครื่องดักจับสัตว์น้ำเช่น ไซ ตุ้ม ข้อง ฯลฯ และสานเป็นฝาเรือน ฝาบ้าน ปัจจุบันเครื่องจักรสานบางชนิดหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่นำมาใช้ การใช้เครื่องจักรสานก็ซบเซาลง ผู้ที่มีฝีมือด้านนี้ก็ลดน้อยลงปัจจุบันเครื่องจักรสานของลุงทวีจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลสากเหล็กเพื่อให้ศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป
สาขา ช่างฝีมือดั้งเดิม ผ้าทอ หมู่ที่ 12
นางแหวว ทองอุบล บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 12 บ้านวังกะเปา ตำบลสากเหล็ก อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้า ผ้าทอมือ ซึ่งแรกเริ่มตนเองมีความรู้ด้านการทอผ้าอยู่แล้วและทออยู่เป็นประจำ และได้มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มทอผ้าเพื่อให้สตรีมีรายได้ โดยมีการทอผ้าต่างๆเช่น ผ้ามัดหมี่ มีกรรมวิธีการทอที่ทำให้ให้เกิดลวดลายโดยการย้อมเส้นฝ้ายให้ด่าง โดยการผูกมัดให้เกิดช่องว่าง การทอผ้ามัดหมี่แต่ละผืนต้องใช้เวลาและความประณีต โดยจัดเรียงเส้นไหมและฝ้ายให้สม่ำเสมอ คงที่ กรรมวิธีต้องเรียงลำดับก่อนหลังให้ถูกต้อง เพื่อทำให้เกิดลวดลายสวยงามตามต้องการ ผ้าจก การทอจกเป็นกรรมวิธีของการทอและการปักผ้าไปพร้อมๆกัน การทอลวดลายใช้วิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าเป็นช่องๆไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า ซึ่งจะทำได้โดยใช้ไม้หรือขนเม่น หรือนิ้วมือยกขึ้น เป็นการทอผสมการปักกลายๆ ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอมือด้วยกรรมวิธีทอผ้าให้เกิดลวดลาย ลักษณะผสมกันระหว่างลายชิดกับลายจก ผ้าแพรวาต้องมีหลายๆลายอยู่ในผืนเดียวกัน ผ้าพื้น ทอโดยการใช้ไหมเส้นพุ่งและไหมยืนสีเดียวเท่านั้น เช่น ไหมพุ่งเป็นสีเขียว ไหมเส้นยืนเป็นสีทองใช้เป็นผ้านุ่ง หรือในโอกาสอื่นๆและยังรับทอผ้าตามที่ลูกค้าหรือผู้สนใจสั่งอีกด้วย